‘อิสราเอล’ กับการบริหารน้ำ เทคโนโลยีชั้นนำกลางผืนทราย
อิสราเอล แสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึงศักยภาพและประสิทธิภาพ ด้วยการเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาต่อยอดแนวทางการจัดการน้ำ “อย่างชาญฉลาด” อีกหลายวิธี ซึ่งหนึ่งในวิธีที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ระบบเกษตรน้ำหยด”
อาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2560 เวลา 03.15 น.
กฎหมายเรื่องน้ำถือเป็นหนึ่งในกฎหมายที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับอิสราเอล โดยกฎหมายฉบับแรกได้รับการประกาศให้มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2498 ซึ่งมาตรา 1 ของกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ทรัพยากรน้ำทั้งหมดในอิสราเอลถือเป็นสาธารณสมบัติ ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดสรรปันส่วนน้ำอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม แม้แหล่งน้ำแห่งนั้นตั้งอยู่ในอาณาเขตที่ดินของเอกชนก็ตาม”
ด้วยสภาพภูมิประเทศของอิสราเอลที่แห้งแล้ง ด้วยพื้นที่ครึ่งหนึ่งเป็นทะเลทราย และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีอยู่ในระดับต่ำมาก โดยอยู่ที่เพียง 10 มิลลิเมตรต่อวันเท่านั้น แม้อยู่ในช่วงฤดูฝน เป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับให้อิสราเอลต้องหาทางผลิตน้ำจืดไว้ใช้เองภายในประเทศ ด้วยการคิดค้นและพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด ปัจจุบันอิสราเอลมีโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเล หรือการสกัดแยกเกลือออกจากน้ำทะเลรวมทั้งสิ้น 5 แห่ง ตั้งอยู่ที่เมืองอัชเคลอน พัลมาชิมซอเร็ก ฮาเดรา และแอชดอด
โดยโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ที่เมืองซอเร็ก ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทลอาวีฟลงไปทางตอนใต้ราว 15 กิโลเมตร เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 หลังใช้เวลาก่อสร้างเพียง 2 ปีเท่านั้น ด้วยกำลังการผลิตในตอนนี้อยู่ที่ 624,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 20% ของปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อการบริโภค “เท่านั้น” ในอิสราเอล ซอเร็กจึงถือเป็นโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน
นอกเหนือจากเทคโนโลยีการกำจัดเกลือออกจากน้ำทะเลที่อิสราเอลถือเป็นประเทศผู้เชี่ยวชาญลำดับต้นของโลกแล้ว อิสราเอลยังแสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึงศักยภาพและประสิทธิภาพในด้านนี้ด้วยการเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาต่อยอดแนวทางการจัดการน้ำ “อย่างชาญฉลาด” อีกหลายวิธี ซึ่งหนึ่งในวิธีที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ระบบเกษตรน้ำหยด” หรือ “ระบบชลประทานน้ำหยด” ( Drip Irrigation System ) เป็นการให้อาหารและน้ำแก่ต้นพืชผ่านไปตามสายทีละหยด เพื่อให้มีการดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม อิสราเอลสามารถพัฒนาระบบเกษตรน้ำหยดให้ก้าวไปได้ไกลยิ่งกว่านั้น นั่นคือการเพิ่มระบบเซ็นเซอร์ให้เป็นมาตรวัดน้ำหยด และสังเกตการณ์การเจริญเติบโตของต้นพืชตามการทดน้ำที่เกิดขึ้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นพืชได้ตามสถานการณ์จริง ถือเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิตด้วย
ขณะเดียวกัน แนวคิดของอิสราเอลยังก้าวไปไกลมากขึ้นอีก เมื่อรัฐบาลริเริ่มแนวคิดการแปรสภาพน้ำโสโครก ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากการอาบน้ำชำระล้างร่างกาย น้ำจากการซักผ้า น้ำจากการล้างจาน หรือแม้แต่น้ำเสียจากชักโครก ให้สามารถเข้าสู่ระบบการทดน้ำสำหรับการเกษตร แม้แนวคิดดังกล่าวซึ่งมีการจุดประกายขึ้นเมื่อราว 60 ปีที่แล้ว ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากบรรดานักสิ่งแวดล้อมว่า “สุดโต่งเกินไป” และเสี่ยงเกินอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจเริ่มขั้นตอนพัฒนาแนวคิดในเรื่องนี้ให้กลายเป็นความจริงนับจากนั้น
ศูนย์บำบัดน้ำเสียในเมืองชาฟดัน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงเทลอาวีฟ ถือเป็นโรงงานบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่สุดของอิสราเอล ครอบคลุมเขตเทศบาล 7 แห่ง ในพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันสามารถบำบัดน้ำเสียสำหรับนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อการเกษตร ได้ประมาณปีละ 130 ล้านคิวบิกเมตร อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยเหตุนี้กฎหมายของอิสราเอลจึงระบุให้พืชที่จะได้รับการหล่อเลี้ยงด้วย “น้ำประเภทสอง” เช่นนี้ จะต้องเป็นพืชที่ใช้งานเพื่อการอุตสาหกรรมเท่านั้น และต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่า สารเคมีที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในน้ำจะไม่เป็นอันตรายต่อสภาพดินในบริเวณนั้นด้วย
อาเมียร์ เปเล็ก นักธุรกิจและนักลงทุนชื่อดังของอิสราเอลเคยกล่าวว่าสิ่งที่จะ “ขาดแคลน” บนโลก ไม่ใช่น้ำสะอาด แต่เป็นนวัตกรรมในการผลิตและบริหารจัดการน้ำสะอาด โดยอิสราเอลถือเป็นประเทศที่ได้รับการขนานนามให้เป็น “ดินแดนแห่งสตาร์ทอัพ” (Start-Up Nation) ซึ่งเป็นการตั้งต้นธุรกิจที่แม้เริ่มจากศูนย์ แต่สามารถพัฒนาได้แบบก้าวกระโดด และธุรกิจส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันโดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเสมอไป ปัจจุบันบริษัทข้ามชาติด้านเทคโนโลยีมากกว่า 250 แห่ง เปิดสาขาในอิสราเอล ซึ่งรวมถึงแอปเปิ้ล เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล ไมโครซอฟท์ และไอบีเอ็ม
ขณะที่ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ริเริ่มโดยชาวอิสราเอลเองสามารถนำเทคโนโลยีจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้มาตั้งต้นสำหรับการส่งเสริมธุรกิจของตัวเอง อาทิ บริษัททาคาดู (https://takadu.wordpress.com) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบซอฟต์แวร์และใช้หลักการคำนวณอัลกอริธึมทางคณิตศาสตร์เพื่อตรวจสอบและป้องกันการรั่วซึมของท่อระบายน้ำ
แม้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อระหว่างอิสราเอลกับโลกอาหรับ นับตั้งแต่สงคราม 6 วัน เมื่อปี 2510 ดูเหมือนเป็นปัญหาที่ไม่มีวันจบ แต่อิสราเอลและรัฐอาหรับหลายแห่งสามารถละทิ้งความขัดแย้งเหล่านั้นไว้เบื้องหลัง เพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์เรื่องน้ำที่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในอิสราเอล แต่เป็นปัญหาสำหรับหลายประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งความต้องการใช้น้ำสะอาดกำลังเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ
อิสราเอลมีโครงการความร่วมมือเรื่องน้ำกับปาเลสไตน์ ที่รวมถึงเขตเวสต์แบงก์ อียิปต์และจอร์แดน ทั้งในด้านของการส่งออกน้ำสะอาดในราคาถูกกว่าปกติ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แต่ละฝ่ายสามารถนำไปปฏิบัติเองด้วย ปัจจุบันราว 96% ของพลเมืองในปาเลสไตน์ที่มีอยู่ราว 2.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากถึง 400% หลังการสิ้นสุดสงคราม 6 วันสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ ผ่านการส่งน้ำผ่านตามท่อเข้าสู่ครัวเรือนที่มาจากอิสราเอลโดยตรง ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่โครงการที่ปาเลสไตน์ยอมรับในเทคโนโลยีของอิสราเอล
จนถึงตอนนี้คงไม่ใช่การกล่าวอ้างที่เกินจริงนักว่า อิสราเอลถือเป็น “ประเทศมหาอำนาจ” ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ และการผลิตน้ำสะอาดไว้ใช้เอง รวมถึงการหมุนเวียนน้ำใช้แล้วด้วยเทคโนโลยีที่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งเป็นผลจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาของชาวอิสราเอลตลอดระยะเวลา 69 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่มีการสถาปนารัฐอิสราเอลเมื่อปี 2491 ตามเจตนารมณ์ของนายเดวิด เบนกูรีออน ผู้ก่อตั้งประเทศและนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล ซึ่งต้องการ “สร้างทะเลทรายให้เบ่งบาน”
นอกจากนี้ อิสราเอลมีความพร้อมและยินดีเป็นอย่างยิ่งในการมอบความช่วยเหลือหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้กับนานาประเทศรวมถึงไทย ที่ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญยิ่งของอิสราเอลด้วย.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป รายงาน… อ่านต่อที่ :
Source: https://www.dailynews.co.th/article/582904